“ขยะ” ตัวการโลกร้อนที่ไม่ควรมองข้าม

เคยสังเกตไหมว่าเมื่อเข้าสู่หน้าร้อนทีไร อากาศก็ยิ่งร้อนขึ้นทุกปี นั่นก็เพราะเหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งในผลกระทบใกล้ตัวจากภาวะโลกร้อน (Global Warming) ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกระบวนการจัดการขยะมูลฝอยด้วยการฝังกลบ ที่ถือเป็นแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) และเป็นสาเหตุหลักที่เร่งให้เกิดภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) รุนแรงกว่าที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ ส่งผลให้อุณภูมิบนพื้นผิวโลกสูงขึ้นจนกลายเป็นภาวะโลกร้อน (Global Warming)

โดยก๊าซที่เกิดจากการฝังกลบขยะมูลฝอย และเป็นสาเหตุหลักของภาวะเรือนกระจกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1. การปล่อยก๊าซมีเทน (CH4) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีค่าศักยภาพที่ทําให้โลกร้อน มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ถึง 25 เท่า โดยการฝังกลบขยะมูลฝอยจะทำให้ขยะอินทรีย์ ได้แก่ ไม้ กระดาษ อาหาร สิ่งทอ กิ่งไม้ และใบไม้ เกิดการย่อยสลายแบบไร้อากาศ (Anaerobic Decornposition) จนเกิดเป็นก๊าซมีเทน (CH4) ถึงร้อยละ 60 ของก๊าซทั้งหมดที่เกิดในหลุมฝังกลบ

2. การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เกิดจากหลุมฝังกลบขยะเช่นเดียวกับก๊าซมีเทน (CH4) แต่เกิดในปริมาณที่น้อยกว่า รวมถึงการใช้เครื่องจักรในการดําเนินงาน เช่น รถบรรทุก รถตัก รถบดอัด เครื่องบดย่อย ก็มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงานไฟฟ้าและเกิดการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอีกด้วย

3. การปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N20) เป็นหนึ่งในก๊าซที่เกิดจากหลุมฝังกลบ แต่เกิดในปริมาณที่น้อยมาก

นอกจากนี้กระบวนการจัดการของเสียที่เกิดจากการทิ้งขยะ การบําบัดขยะเชิงชีวภาพ (Biological Treatment of Solid Waste) การเผาขยะแบบเปิด และการบําบัดนํ้าเสีย ล้วนเป็นกระบวนการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่าการจัดการขยะเหล่านี้ ย่อมก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย แถมขยะไม่ถูกนำกลับไปใช้ให้เป็นประโยชน์อีกด้วย ซึ่งหากใครที่อยากรู้วิธีการจัดการขยะอย่างถูกต้อง กดติดตามข้อมูลดีๆ และอัปเดตความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโครงการก่อนใครได้ที่ www.facebook.com/TheElectricPlaygroundThailand

 

ที่มา : https://drive.google.com/drive/u/0/folders/1bwzRMG8J75JN7OFnw1ahIgGesQXJdgfr
เอกสารประกอบการสอน เรื่อง STEAM4INNOVATOR x Waste to Energy Learning Unit 1-7 หน้า 12-15
http://climate.tmd.go.th/content/article/9
Share: